top of page

ทำความเข้าใจ อาการตาแห้งคืออะไร พร้อมวิธีป้องกัน ก่อนสายเกินแก้!

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญในการใช้ชีวิต เป็นอวัยวะที่ต้องใช้งานตลอดทั้งวัน ดวงตาทุกคนจึงมีโอกาสเกิดภาวะตาแห้งเนื่องจากดวงตาสูญเสียน้ำได้เสมอ ทั้งนี้ภาวะตาแห้งเป็นสิ่งที่ป้องกันรักษาได้ ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับภาวะตาแห้ง อาการ สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน ดังนี้

ภาวะตาแห้ง คืออะไร

โดยปกติต่อมน้ำตาจะผลิตน้ำตาเพื่อหล่อเลี้ยง สร้างความชุ่มชื้น และช่วยป้องกันการติดเชื้อของดวงตา แต่สำหรับคนที่มีภาวะตาแห้ง จะมีน้ำตาอยู่ในตาน้อยกว่าปกติ ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการตาแห้งเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุตาและเปลือกตาได้ การระคายเคืองต่างๆ ที่จะนำไปสู่ภาวะผิดปกติของดวงตาที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

ภาวะตาแห้ง มีอาการอย่างไร

ภาวะตาแห้ง มีอาการอย่างไร

สัญญาณเตือนภาวะตาแห้ง มีอาการดังนี้ 

  • อาการระคายเคืองตา น้ำตาไหลมากกว่าปกติ

  • ตามีอาการล้า ตาแดง แสบตาได้ง่าย

  • ตาพร่ามัว มองไม่ชัดเป็นบางครั้ง 

  • ตาแพ้แสง สู้แสงไม่ได้

  • รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา

  • มีเมือกเป็นเส้น ทั้งในหรือรอบดวงตา

สาเหตุของอาการตาแห้ง

สาเหตุของอาการตาแห้ง

โรคตาแห้ง เกิดจากการที่น้ำในตามีน้อย ไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงและสร้างความชุ่มชื้นให้ผิวตา ซึ่งภาวะที่น้ำในตามีน้อยนั้น  เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก ดังนี้

  • มีการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ เป็นภาวะที่ดวงตาผลิตน้ำตามาหล่อเลี้ยงบริเวณผิวตาไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการตาแห้ง สำหรับสาเหตุที่ดวงตาผลิตน้ำตาได้น้อย ตาแห้ง มีสาเหตุมาจาก

  • การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาลดความดัน ยาคลายเครียด ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาสำหรับโรคพาร์กินสัน ยาคุมกำเนิด และยารักษาสิว เป็นต้น 

  • โรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคไทรอยด์ หรือขาดวิตามินเอ เป็นต้น

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งร่างกายจะผลิตน้ำได้น้อยลง

  • อาการผิดปกติของร่างกายที่ส่งผลต่อภาวะตาแห้ง เช่น การแพ้ยารุนแรง อาการอักเสบที่ทำให้ต่อมท่อน้ำตาตัน การทำงานผิดปกติของต่อมน้ำตา อาการกระจกตาอักเสบ การใส่คอนแทกเลนส์ เป็นต้น

  • น้ำตาระเหยเร็ว เกิดจากความผิดปกติของดวงตา ดังนี้ 

  • ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น การปิดเปลือกไม่สนิท ภาวะเปลือกตาม้วนออก และภาวะเปลือกตาม้วนเข้า เป็นต้น

  • การใช้สายตามากเกินไป ดวงตาจะกะพริบตาน้อยลง ส่งผลต่อภาวะตาแห้งได้

  • การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา หรือภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน เปลือกตาอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง

โรคตาแห้ง เกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป น้ำในตาจะผลิตได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งในผู้สูงอายุ

  • เพศหญิง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด และการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน 

  • ผู้ที่ขาดสารอาหาร ทั้งขาดวิตามินเอ และกรดไขมันโอเมก้า 3 

  • ผู้ที่ใส่คอนแทกเลนส์ หรือการผ่าตัดรักษาสายตา เช่น เลสิก

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังมีอาการตาแห้ง

ภาวะตาแห้ง นอกจากจะทำให้เกิดอาการดวงตาและเปลือกตาแห้งแสบแล้ว หากเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อดวงตาได้ เช่น 

  • ตาติดเชื้อ เนื่องจากขาดน้ำตาปกป้องผิวตา และแผลที่กระจกตา

  • ผิวตาเกิดความเสียหาย เช่น กระจกตาเป็นแผลหรือถลอก

  • กรณีต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน จะทำให้เกิดเปลือกตาอักเสบ ซึ่งกรณีรุนแรงจะทำให้เปลือกตาเกิดการดึงรั้ง ส่งผลให้ขนตาลงมาทิ่มดวงตาได้

ภาวะตาแห้ง อาจเสี่ยงทำให้ตาบอดได้ไหม?

ภาวะตาแห้ง อาจเสี่ยงทำให้ตาบอดได้ไหม?

เนื่องจากทุกคนต้องใช้สายตาในชีวิตประจำวัน และอาจเสี่ยงกับปัจจัยหลายๆอย่างที่เป็นสาเหตุของภาวะตาแห้ง โดยทั่วไปอาการตาแห้งจะเป็นขั้นที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่ในกรณีที่มีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการแพ้ยา การเป็นโรคประจำตัวบางชนิด การโดนสารเคมีต่างๆ ที่ส่งผลทำให้ต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ ควรจะต้องเข้ารับการรักษา หากปล่อยทิ้งไว้ให้ตาแห้งไม่รักษาให้ดี อาจนำไปสู่ภาวะการสูญเสียการมองเห็นจากกระจกตาเป็นแผลและติดเชื้อได้

รักษาภาวะตาแห้งได้อย่างไร

รักษาภาวะตาแห้งได้อย่างไร

หากมีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบหาทางรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ดวงตากลับมาอยู่ในสภาวะปกติ สำหรับการรักษาตาแห้งจะมีทั้งการรักษาด้วยยา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้

การรักษาด้วยการใช้ยา

กรณีมีการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ

  1. น้ำตาเทียม จะช่วยให้ดวงตามีความชุ่มชื่น จะใช้รักษาตาแห้งที่ไม่รุนแรงมาก  และควรใช้ในปริมาณที่แพทย์แนะนำ

  2. ยาช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำตา เพื่อเพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำ ช่วยให้ตาไม่แห้ง

  3. ยากดภูมิคุ้นกัน ในรายที่มีอาการภูมิแพ้และตาแห้ง เพื่อช่วยลดการอักเสบและเพิ่มปริมาณน้ำตา

  4. ยาลดการอักเสบกลุ่ม Steroids ช่วยลดการอักเสบของกระจกตา

กรณีน้ำตาระเหยมากกว่าปกติจากภาวะต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

  1. ยาลดอาการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Doxycycline 

การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

กรณีมีการสร้างน้ำตาน้อยกว่าปกติ

  1. การอุดท่อระบายน้ำตา การรักษาตาแห้งในกรณีมีความรุนแรงกว่าปกติ โดยจะมีทั้งการอุดท่อระบายน้ำตาชั่วคราว ที่จะอุดช่องทางไหลของน้ำตาลงสู่โพรงจมูก โดยการใส่ Silicone plug และการอุดท่อระบายน้ำตาถาวร โดยการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกมาจากตา 

  2. การใช้คอนแทกเลนส์ชนิดพิเศษ Scleral lense หรือ Bandage lenses ที่ช่วยปกป้องผิวดวงตาและเก็บความชุ่มชื่น

กรณีน้ำตาระเหยมากกว่าปกติจากภาวะต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

  1. การรักษาด้วยแสง (IPL) และนวดเปลือกตาในกรณีที่มีอาการรุนแรง

  2. การทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่น เพื่อช่วยลดอาการต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน

ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตาแห้งได้อย่างไร

ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตาแห้งได้อย่างไร

  • รับประทานอาหารที่ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติลดการอักเสบ บรรเทาอาการตาแห้ง

  • งดการใส่คอนแทกเลนส์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรสลับกับการสวมแว่นตาด้วยเพื่อเป็นการพักดวงตา 

  • สวมแว่นตาป้องกันดวงตาทุกครั้งที่ต้องอยู่ในที่ที่มีลมแรง อากาศแห้ง และร้อน

  • ขณะใช้คอมพิวเตอร์และมือถือ ควรพักสายตาทุกๆ 20 นาที โดยให้หลับตาประมาณ 20 วินาที และมองออกไปไกลๆ เพื่อผ่อนคลายดวงตา 

สรุป

ภาวะตาแห้ง คือภาวะที่ดวงตาขาดน้ำมาหล่อเลี้ยงผิวตา ทำให้ตาแห้ง  หากมีความรุนแรงก็จะเกิดเป็นแผลและอาการอักเสบที่กระจกตา ถือเป็นอันตรายต่อดวงตามาก สำหรับสาเหตุของภาวะตาแห้งเกิดจากการที่ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาน้อย และการที่น้ำตาระเหยเร็วกว่าปกติ หากมีอาการตาแห้ง ควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสามารถพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาโดยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับอาการ ช่วยให้ดวงตากลับมาเป็นปกติ 

คำถามที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับอาการตาแห้ง (FAQ)

หลายๆ คนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะตาแห้ง จึงขอรวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการตาแห้ง ดังนี้

อาการตาแห้งแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์

อาการตาแดง ระคายเคือง อาการตาล้า อาการเจ็บตาต่อเนื่องหลายวัน และตามัวลง ซึ่งไม่ดีขึ้นโดยการหยอดน้ำตาเทียม

หากมีอาการตาแห้งควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบแพทย์

คนไข้ควรจดบันทึกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะตาแห้ง เช่น วันที่มีอาการ ลักษณะอาการที่เป็น เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออาหารตาแห้ง ข้อมูลโรคประจำตัว และข้อมูลเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่ ทั้งที่เป็นยารักษา และอาหารเสริม

อาการตาแห้ง มีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยยังไง

การตรวจวินิจฉัยอาการตาแห้ง แพทย์จะมีขั้นตอนตรวจ ดังนี้ 

  1. ตรวจสุขภาพตาเพื่อสาเหตุของอาการตาแห้ง 

  2. ตรวจปริมาณน้ำตา เรียกว่า การทดสอบ Schirmer test 

  3. ตรวจคุณภาพของน้ำตา โดยการใช้สีย้อม เพื่อตรวจสอบการติดสีบนกระจกตา และเพื่อดูว่าน้ำตาระเหยเร็วหรือไม่

ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page